ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Funding Model เพื่อการบริหารชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีอย่างยั่งยืน

นวัตวิถีคือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง กระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง เป็นโครงการที่ผนวกโครงการ OTOP เข้ากับการท่องเที่ยว โดยสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองรองขึ้น แล้วส่งนักท่องเที่ยวเข้าชุมชน แทนที่จะดึงวิสาหกิจออกจากชุมชนสู่เมืองอย่างที่โอท็อปเคยทำด้วยการจัดงานแฟร์ แล้วให้สินค้าชุมชนต่างๆเหล่านี้มาออกร้านขายของปีละสามสี่เดือน ส่วนที่เหลืออีกปีละแปดเก้าเดือน ก็เคว้ง ว่างงาน กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

งานของโครงการชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี เริ่มตั้งแต่การค้นหาจุดเด่นของชุมชน ดึงมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างเรื่องราว เรื่องเล่า ผสานกับการให้ความรู้กับชุมชนในการสร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ชุมชน

นวัตวิถี จึงเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้วิถีชีวิตปกติของชุมชนเอง

อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำให้โครงการมีความยั่งยืน ต้องมีการจัดการเพื่อให้การบริหารโครงการมีความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การรักษาความสะอาด การรักษาความปลอดภัย การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความว้าว ความแปลกใหม่ การสร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่เบื่อที่จะกลับมาเที่ยวอีก การทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับการรับรู้ในใจของนักท่องเที่ยว กุญแจหลักอันหนึ่งก็คือ การบริหารจัดการชุมชนที่ดี

งานเหล่านี้ เป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ระยะแรกที่ปลุกปั้นโครงการเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์การเพื่อบริหารงานให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ตัวหน่วยงานบริหารนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผลกำไรมาแบ่งปันกัน แต่หน่วยงานนี้ จำเป็นต้องมีรายได้ มีงบประมาณในการบริหารงานของตัวเอง แบบเดียวกับหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่น แม้ว่าหน่วยงานนี้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายหรือไม่ก็ตาม

ในที่นี้ จะมุ่งเน้นที่การสร้างโมเดลธุรกิจตัวอย่างของหน่วยงานเพื่อบริหารโครงการนวัตวิถีในระดับหมู่บ้าน โดยมีหลักการพื้นฐานคือ แบ่งงานเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ งานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ (Program Model) และงานสร้างรายได้เพื่อสนับสนุนการทำโครงการ (Funding Model)

เนื่องจากงานในส่วนของ Program Model มีการพูดถึงมากมายอยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอพูดถึงเฉพาะในส่วนของการสร้าง Funding Model หรือโมเดลธุรกิจของการสร้างรายรับเพื่อสนับสนุนการทำงานตามวัตถุประสงค์

เนื่องจากหน่วยงานนี้จะต้องสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว ดังนั้นหลักการวาง Funding Model ของโครงการจึงอยู่บนแนวคิด ความสามาถในการเลี้ยงตัวเองได้แบบหน่วยธุรกิจ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการนำผลกำไรมาแบ่งปันกัน รายได้ที่เกิดขึ้น จะใช้ไปในการขับเคลื่อน หรือลงทุนต่อยอดโครงการ เพื่อเศรษฐกิจที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน


Funding Model ของหมู่บ้านนวัตวิถี
==========================

- Value Propositions : คุณค่าที่เกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจส่วนนี้คือ เน้น keyword คือ ทรัพยากร, ประสิทธิภาพ และ ความยั่งยืน เน้นการสร้างทรัพยากรที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แม้ว่าทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิต ไม่ได้มีเพียงเงิน แต่เงินก็เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ด้วยความที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนรูปเป็นทรัพยากรอื่นได้ง่าย ใน Funding Model จึงเน้นการสร้างเงิน เพื่อเปลี่ยนเงินให้เป็นปัจจัยการผลิตอื่นที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างยั่งยืน

- กระแสรายได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างเครื่องจักรในการสร้างรายได้ของหมู่บ้านนวัตวิถี ดังนี้
1. ทรัพย์สินทางปัญญา หมู่บ้านสามารถออกแบบตราสัญลักษณ์ หรือวลีเก๋ๆ มาใช้เพื่อสื่อถึงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่สามารถนำมาสร้างรายได้กลับมายังผู้บริหารโครงการ
2. ทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้าน เป็นต้นว่า ลานจัดกิจกรรม, จุดประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ส่วนกลางที่มีทำเลดีๆ เพื่อความเป็นธรรม หากนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ อาจมีการตั้งราคาค่าเช่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการตลาดสูงสุด แลกกับค่าเช่าที่เข้าสู่โครงการเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนให้แก่ส่วนรวม
3. ค่าโฆษณา เป็นตัวสร้างรายได้ที่ดีอีกตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้หลากหลาย Platform ไม่ส่าจะเป็นออนไลน์ หรือออนกราวด์-บนพื้นที่จริง เพียงแค่สร้างพื้นที่ที่น่าสนใจที่จะมีลูกค้าแวะเวียนมาเยี่ยมชม การตั้งราคาค่าชมที่เหมาะสมกับพื้นที่เหล่านี้ สามารถสร้างรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาแก่ธุรกิจที่สนใจ
4. ค่าบริการเชิงธุรกิจแก่วิสาหกิจในชุมชน รายได้ส่วนนี้ ได้ประโยชน์สองทาง นอกจากจะสร้างรายได้สนับสนุนโครงการแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงธุรกิจให้แก่วิสาหกิจในหมู่บ้าน เช่น บริการทำแพ๊คเกจจิ้งมาตรฐานเพื่อแบ่งกันใช้สำหรับวิสาหกิจในชุมชน, การทำเวบไซต์ท่า เพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวไปสู่วิสาหกิจชุมชนแต่ละราย เป็นการแชร์ค่าใช้จ่ายทางการตลาดให้ลดลง หรือการร่วมกันจัดรายการส่งเสริมการขาย เป็นต้น

- กิจกรรมหลัก เพื่อสร้างเครื่องจักรในการผลิตรายได้ ตัวอย่าง กิจกรรมหลัก เช่น
1. บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน การบริหารทรัพย์สินทางปัญญานี้ ไม่ใช่เพียงแค่สำรวจว่ามีทรัพย์สินทางปัญญาอะไรอยู่บ้าง, การหามูลค่า หรือการใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการสร้าง และการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ดิสนีย์ มีการสร้างตัวการ์ตูนเพิ่มขึ้นมา ใส่คาแร็กเตอร์ให้กับการ์ตูนเหล่านี้ แม้ว่าไม่ใช่ทุกตัวจะดัง แต่ก็เป็นการเพิ่มทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นในพอร์ต และถ้าวันหนึ่งเกิดเป็นที่นิยมขึ้นมา ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นทันที
2. บริหารทรัพยากร หรือทรัพย์สินส่วนกลาง เช่นเดียวกับทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่สำรวจ และใช้งาน แต่ยังต้องบำรุงรักษา และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรส่วนกลางด้วย
3. สร้างสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ นอกจากจะใช้ในการสื่อสารกับภายนอก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าสู่ชุมชนได้แล้ว สื่อออนไลน์ยังสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาได้อีกด้วย
4. สำรวจความต้องการความช่วยเหลือของวิสาหกิจในชุมชน และสร้างบริการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโครงการ

- ทรัพยากรหลัก
1. อาสาสมัคร จุดเด่นอย่างหนึ่งของหน่วยงานไม่หวังผลกำไรคือ สามารถดึงดูดอาสาสมัครมาร่วมงานได้ง่าย อาสาสมัครก็คือคนธรรมดาที่มีความเชี่ยวชาญในงานของตนเอง แต่มาร่วมงานแบบไม่มีค่าตอบแทน หากมีการบริหารจัดการอาสาสมัครที่ดี หน่วยงานจะมีบุคคลากรที่มีความสามารถสูงมาทำงานให้ โดยได้รับสิ่งตอบแทนเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน
2. สื่อออนไลน์ การใช้สื่อออนไลน์ นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับภายนอกแล้ว ยังเป็นเครื่องจักรหนึ่งในการสร้างรายรับจากการโฆษณา สื่อออนไลน์ที่หน่วยงานดูแลเป็นอย่างดี จึงเป็นทรัพยากรสำคัญของหน่วยงาน
3. ทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินส่วนกลาง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

- พันธมิตรหลัก : หน่วยงานบริหารโครงการ สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หลากหลาย เช่น
1. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
3. ภาคธุรกิจ การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจที่มีความยั่งยืน ต้องมีอะไรมากไปกว่าการเดินเข้าไปขอสปอนเซอร์ การทำความเข้าใจความต้องการของธุรกิจนั้นๆอย่างถ่องแท้ จะช่วยสร้างโมเดลธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน สร้างเป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพาอาศัยกันแบบ win-win ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย สิ่งที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการมักได้แก่ ความมั่นคงของทรัพยากรการผลิต, การกระตุ้นตลาด, การปรับปรุงบริบทของธุรกิจ หรือการสร้างชื่อเสียงแก่ธุรกิจ หากสามารถสนองตอบในด้านที่ธุรกิจนั้นกำลังให้ความสนใจ ย่อมได้รับการตอบสนองมากกว่าการให้สปอนเซอร์


เป็นตัวอย่างไอเดีย การสร้าง Funding Model ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจของหน่วยงานไม่หวังผลกำไรต่างๆ

#โมเดลธุรกิจ
#BusinessModel
#NonprofitOrganizationBusinessModel
#ไม่หวังผลกำไร
#โอท็อป
#นวัตวิถี


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

6 แหล่งรายได้ของสมาคม

สมาคมการค้าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องขนาดงบประมาณที่จะใช้ในการผลักดันกิจกรรมของสมาคม ครั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากสมาชิก สมาขิกก็มักจะไม่ยินยอมให้เก็บเพิ่ม สมาคมการค้าจึงมักจะต้องใช้วิธีปรับลดกิจกรรมตามแผนงานลง ปัญหาเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับองค์การที่ไม่หวังผลกำไรอื่นประเภทที่เน้นบทบาทของสมาชิกด้วย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดีๆ สมาชิกไม่ใช่แหล่งรายได้เดียวของสมาคมการค้า เมื่อจำแนกรายได้ของสมาคม จากเจ้าของเงิน เราสามารถแบ่งได้เป็น 1.สมาชิก :  สมาชิกเป็นแหล่งรายได้แรกๆที่สมาคมจะคิดถึง อย่างไรก็ตาม สมาคมสามารถได้รับรายได้จากสมาชิก ไม่เพียงแต่ในรูปแบบของค่าธรรมเนียมเท่านั้น สมาคมยังสามารถสร้างสรรค์บริการอื่นที่ตรงใจสมาชิก เพื่อรับค่าบริการเป็นการตอบแทน เช่นการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของสมาชิก, การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดแก่สมาชิก เป็นต้น 2.ภาครัฐ :  องค์การไม่หวังผลกำไร เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลงานภาคสังคมได้ทั่วถึง จึงเกิดการรวมตัวกันของชุมชนเข้ามาช่วยจัดการแทนภาครัฐ ดังนั้นภาครัฐจึงสนับสนุนงบประมาณและอื่นๆ เป็นการตอบแทนการทำหน้าที่แทนรัฐบาลขององค์การไม่แสวงหากำไร

เหตุผลที่ภาครัฐนิยมติดต่อกับสมาคมการค้า

จุดเริ่มต้นของสมาคมการค้าจำนวนมาก มักก่อตัวจากกการมีความสนใจหรือปัญหาร่วมกัน จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่าย หรือชมรมฯ และเมื่อผ่านการทำกิจกรรมติดต่อกับภาครัฐระยะหนึ่ง กลุ่มเครื่อข่ายนั้น มักได้รับคำแนะนำจากภาครัฐ ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นสมาคมการค้า ในด้านหนึ่งก็เพื่อให้กลุ่มเครือข่ายนั้นมีตัวตนตามกฏหมายเป็นนิติบุคคลหนึ่งที่ภาครัฐจะติดต่อทำธุรกรรมได้เป็นกิจจะลักษณะ อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลอื่นอีก โดยเฉพาะสมาคมการค้าที่ผ่านการจัดตั้งระยะหนึ่ง มีกลไกการทำงานของตัวเองแล้ว และนี่คือเหตุผลที่ภาครัฐนิยมในการติดต่อกับสมาคมการค้า 👉 เป็นตัวแทนของหน่วยจ้างงานของประเทศ สมาคมการค้าเป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ประกอบการ ที่เป็นหน่วยย่อยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานทั่วไป จึงมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมธุรกิจ ให้มีการลงทุน ให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีงานทำ มีการใช้จ่าย ธุรกิจจึงจะดำเนินต่อไปได้อันเป็นที่มาของภาษีที่รัฐจัดเก็บ ภาครัฐจึงอาศัยสมาคมการค้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการ เป็นช่องทางหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของภาครัฐได้ 👉 เป็นคู่เจรจาที่น่าเชื่อถ

แนวทางในการพัฒนาสมาคมการค้า

สมาคมการค้า จัดเป็นองค์การที่ไม่หวังผลกำไร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบการของสมาชิก อย่างไรก็ตาม คุณค่าของสมาคมการค้า มิได้มีเพียงต่อผู้ประกอบการเท่านั้น สมาคมการค้ายังมีความรับผิดชอบต่อสังคม สมาคมการค้าจึงต้องจัดสมดุลระหว่างประโยชน์ของสมาชิกและสังคมส่วนรวมด้วย เพราะสังคมส่วนรวมก็คือลูกค้าของสมาชิก คือสภาพแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ของการประกอบการของสมาชิก แม้ว่าสมาชิกแต่ละรายอาจมิได้คำนึงถึง แต่สมาคมการค้าต้องคิดถึงผลกระทบเหล่านี้ด้วย กรรมการสมาคมการค้า จึงต้องมองภาพใหญ่กว่าสมาชิกแต่ละราย ต้องมองให้เห็นถึงระดับมหภาค นอกจากนี้ ภาครัฐนิยมขับเคลื่อนนโยบาย หรือโครงการบางอย่างผ่านสมาคมการค้า เพราะสมาคมการค้าเป็นการรวมตัว และเป็นตัวแทนของเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ในหลายๆครั้ง หลายๆโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องความไม่เข้มแข็งของสมาคมการค้านั้น ความเข้มแข็งของสมาคมการค้า สะท้อนออกมาในรูปของการจูงใจให้สมาชิกกระทำการบางอย่าง ที่สมาชิกไม่ยอมกระทำในสถานการณ์ปกติ หากสมาคมการค้าไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็ไม่สามารถชักจูงสมาชิกให้ทำเรื่องยากๆ การพัฒ