ธุรกิจในหลายๆอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้กันถ้วนหนเา เสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือดังระงมไปทั่ว แค่ฟังเสียงขอความช่วยเหลือ ก็มึนตึ๊บแล้ว คนต้องการความช่วยเหลือ มีไม่จำกัด แต่คนช่วยเหลือ และแรงช่วยเหลือ กลับมีจำกัด
ในที่นี้ จะขอเสนอความคิด ในการขอความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น
1. รวมกลุ่มใผู้มีความเดือดร้อนคล้ายๆกัน
จุดเริ่มต้นของการหาความช่วยเหลือ ควรจะเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพลังเสียก่อน ถ้าคุณจะเดินดุ่ยไปตามหาความช่วยเหลือ ในยามที่ทุกคนต่างก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน มันคงจะยาก เพราะคิวก่อนหน้าคุณน่ะยาวมากแล้ว
การรวมกลุ่มกัน นอกจากจะทำให้เสียงของคุณดังขึ้นแล้ว ยังทำให้คนช่วยรู้สึกอยากช่วยมากขึ้น เพราะหากแก้ปัญหานี้สำเร็จ จะมีผลกระทบกับคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนคนหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าคุณมุ่งจะไปหาความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่คิดงานแบบมหภาค มากกว่าจะคิดหาวิธีแก้ปัญหาสำหรับทีละราย
การรวมกลุ่มยังมีผลต่อความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะถ้าการรวมกลุ่มของคุณมีการจัดตั้งขึ้นตามกฏหมาย เช่นเป็นสมาคม เป็นมูลนิธิ ย่อมฟังดูน่าเชื่อถือมากกว่าชาวชุมชน “กขค” หรือกลุ่มแม่บ้าน “ฟหกด”
2. ตกผลึกให้ชัดเจนว่า ปัญหาของคุณคืออะไร วิธีแก้ปัญหาคืออะไร ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร
ก็เหมือนกับเวลาที่คุณไปหาหมอ ถ้าคุณบอกได้แค่ว่า คุณไม่สบาย แต่อาการเป็นยังไงก็บอกไม่ได้ ไม่สบายที่ไหนก็ตอบไม่ถูก คุณหมอก็คงจะไปต่อลำบาก และลองจินตนาการว่า ถ้าคุณหมอมีคนไข้ในคิวรอให้คุณหมอตรวจได้จนถึงมืด ไม่ต้องกลับบ้าน คงเดาได้ไม่ยากว่า ถ้าอาการคุณไม่ได้หนักหนาสาหัสในขณะนั้นจริง คุณคงไม่ได้ไปต่อ
แต่ถ้าคุณรู้ว่าปัญหาของคุณคืออะไร พร้อมกับนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่เขาจะช่วย หรือง่ายที่จะทำตามคำขอของคุณ มันก็เหมือนกับการเอากระดาษคำตอบใส่มือเขา ถ้าข้อเสนอของคุณดีจริง และทำได้ง่าย โอกาสที่จะได้รับการพิจารณาก็มีสูง
จากที่เคยพบมา ข้อเสนอที่ดีควรมีลักษณะอย่างอื่นประกอบด้วย เป็นต้นว่าสอดคล้องกับนโยบายหรือแนวทางที่เขากำลังทำอยู่ มันก็คล้ายๆกับว่า เขากำลังล้างจาน แล้วคุณจะฝากช้อนให้เขาล้างอีกคันหนึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเขาล้างจานอยู่ แต่งานที่คุณอยากให้เขาทำคือการเจียวไข่ นั่นหมายถึงเขาต้องล้างมือจนสะอาด จึงจะมาเจียวไข่ให้คุณได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีทั่วไป เขาจะล้างจานให้เสร็จก่อน เพราะฉะนั้นไข่เจียวก็ต้องรอต่อไป เว้นแต่ว่าคุณจะปีนเสาไฟฟ้าเพื่อดึงให้เขาหยุดล้างจานที่เป็นความรับผิดชอบของเขา เพื่อมาเจียวไข่ให้คุณ
3. เข้าหาสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแอุตสาหกรรมของคุณ เพื่อขอการสนับสนุนทางวิชาการ
สถาบันการศึกษาต่างๆ มักมีพันธกิจหนึ่งคือการช่วยเหลือสังคม นั่นหมายถึง มีสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณในทางวิชาการด้านที่เขาถนัด ลองเลือกคณะหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ แล้วขอเข้าพบเพื่อแนะนำตัวและขอความช่วยเหลือ ถ้าเคมีไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะได้รับความช่วยเหลือ
สถาบันการศึกษา สามารถช่วยให้คุณตกผลึกในเรื่องปัญหา และทางเลือกในการแก้ปัญหา บางทีถ้าปัญหาของคุณไม่ซับซ้อนหรือขนาดไม่ใหญ่นัก ก็อาจสำเร็จลงในขั้นนี้ก็ได้
แต่ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำให้ปัญหาลุล่วงลงในชั้นนี้ การที่คุณมีสถาบันการศึกษาเป็นแบ๊คอัพคอยสนับสนุนคุณในทางวิชาการแล้ว ข้อเสนอของคุณต่อภาครัฐ ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นมาก
4. ความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความช่วยเหลือของภาครัฐที่คุณคาดหวัง ควรเป็นเพียงการช่วยให้คุณไปสู่สภาวะที่สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วยตัวเอง หรือช่วยขจัดอุปสรรคบางอย่างเพื่อให้คุณเดินหน้าไปได้เอง อย่าฝากความหวังว่าจะให้ภาครัฐช่วยประคับประคองธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมของคุณตลอดไป เพราะเมื่อไหร่ที่เปลี่ยนรัฐบาล นโยบายต่างๆก็มักจะเปลี่ยน ความสัมพันธ์กับภาครัฐในระยะยาวควรเป็นลักษณะของความร่วมมือมากกว่า
เมื่อคุณมีข้อเสนอที่ดี และทำได้ง่ายแล้ว คุณทำให้น่าเชื่อถือ ด้วยการมีสถาบันการศึกษาสนับสนุนข้อเสนอ ทำให้เห็นว่า ข้อเสนอนี้ ผ่านการศึกษามาพอสมควรแล้ว ถึงขั้นนี้ คุณต้องศึกษาและเลือกว่า หน่วยงานไหนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของคุณ ในบางครั้ง อาจคาบเกี่ยวกับหลายกรม หรือหลายกระทรวง กรณีแบบนี้ ให้คุณเลือกหน่วยงานที่แนวทางของคุณสอดคล้องกับแผนหรือนโยบายของหน่วยงานนั้นที่สุด
5. สร้าง Supply Chain ใหม่
ยังจำกรณีปลาของชาวราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต แลกกับข้าวของชาวปกาเกอะญอในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่ธุรกิจปิดกิจการในระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้มั้ย ในเวลาที่ Supply chain เดิมขาดสะบั้นหรือพันกันยุ่งเหยิงจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ในทางหนึ่ง คุณคงต้องพยายามสางดูว่า Supply Chain เดิมของคุณยังใช้ได้แค่ไหน ในอีกทางหนึ่ง คุณก็ต้องสร้าง Supply Chain ใหม่ขึ้นมา โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น อย่างเช่นชาวราไวย์ และชาวปกาเกอะญอ แค่หาให้เจอว่า มีใครบ้างในสถานการณ์แบบนี้ จะต้องการสิ่งที่คุณมี
ข้อเสนอของคุณ อาจมีคนสนใจแบบเดียวกับ ปลาแลกข้าว สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย พัฒนาให้มันกลายเป็น Supply Chain สายใหม่ทดแทนของเดิมที่ขาด หรือหยุดลง ทำให้ธุรกิจของคุณสามารถไปต่อ ฟื้นตัวกลับมาแม้ว่าจะเสียลูกค้า หรือคู่ค้าเดิมไป
บางครั้ง การสร้าง Supply Chain เส้นใหม่นี้ อาจยุ่งยากเกินกว่าที่ชาวราไวย์และชาวปกาเกอะญอจะจัดการกันเองตามลำพัง อาจต้องให้ภาครัฐช่วยเหลือในบางด้านที่ติดขัด แต่หลังจากนั้น เราต้องสร้างอะไรบางอย่างลงไปทดแทนความช่วยเหลือจากภาครัฐที่จะต้องถอนตัวออกไปในวันหนึ่ง และเมื่อถึงวันนั้น เราจะต้องพร้อมที่จำดำเนินการ Supply Chain เส้นใหม่ที่สร้างขึ้น
ขอลงท้ายด้วยเทคนิคการนำเสนอคือ คุณต้องทำให้เขาเห็นว่า คุณทำมาจนเกือบจะประสบความสำเร็จแล้ว ขาดอีกแค่นิดเดียวที่จะให้เขาช่วย และถ้าสำเร็จแล้ว ผลสำเร็จจะกลับไปเป็นประโยชน์ต่องานที่เขากำลังรับผิดชอบอยู่
ลองคิดดูว่า ถ้ามีสองคนถือแผน และข้อเสนอที่ดีมาคนละแผน ดีทั้งคู่ แต่คนนึงยังอยู่ ณ จุดเริ่มต้น สิ่งที่มีคือแผนในกระดาษ แต่อีกคน ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว การได้เริ่มลงมือทำอะไรไปแล้ว มันบอกหลายอย่างเลย เป็นต้นว่า คุณจริงจังและมั่นใจกับข้อเสนอนี้ถึงขนาดลงทุนทำไปเองก่อน อีกข้อที่สำคัญคือ คุณพึ่งตัวเอง ไม่ทำตัวให้เป็นภาระหวังมาพึ่งคนอื่นอย่างเดียว ทำให้คนอื่นอยากทำงานด้วย
ถ้าคุณทำอะไรตามแผนไปบ้างแล้ว แม้จะแค่หนึ่งในสิบ คุณก็สามารถบอกได้เต็มปากว่า แผนของคุณได้เริ่มต้นแล้ว ขาดอีกแค่นิดเดียว (ขาดแค่เก้าส่วนสิบเอง) ก็จะสำเร็จแล้ว มันจึงน่าช่วยคุณก่อน
เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังเดือดร้อน ที่ต้องการจะพึ่งตัวเองก่อน และอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่นในการต่อยอดความสำเเร็จ สำหรับกลุ่มที่มีการรวมตัวกันอยู่แล้วเป็นสมาคม น่าจะไปต่อได้ง่ายขึ้น เน้นว่า การตกผลึกปัญหาของตัวเอง และสร้างแนวทางแก้ไข เมื่อได้แล้ว ก็จะหาความช่วยเหลือ หรือความร่วมมือได้ง่ายขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น